Modbar Espresso EP กับการทดลอง Pressure Profile Ep.1

     Modbar เครื่องชงกาแฟดีไซน์โดดเด่น เป็นหนึ่งในเครื่องชงกาแฟที่ดึงดูดใจของเหล่าบาริสต้าและ Roasters ทั่วโลก และอย่างที่ทราบกันว่าการปรับ Pressure Profile ของ Modbar Espresso EP นั้นสามารถปรับได้ถึง 15 Profile โดยใช้การกำหนดระยะเวลาการสกัดในแต่ละช่วงที่แตกต่างกัน

     ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงการทดสอบโปรไฟล์ หรือการจำลองการใช้งานโปรไฟล์ของเครื่องชง Modbar Espresso EP ทั้งหมด 2 โปรไฟล์เปรียบเทียบกัน เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างของรสชาติกาแฟที่ได้จากการสกัดในระดับแรงดันในการสกัดแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยเมล็ดกาแฟที่เราเลือกใช้ในวันนี้คือกาแฟจากทวีปอเมริกากลาง ได้แก่ Costa Rica Alma Negra Las Lajas Natural Slow dry ที่ให้รสชาติออกโทนเบอรร์รี่ เปรี้ยวอมหวาน และมีความบาลานซ์ค่อนข้างมาก

     การทดสอบจำลองโปรไฟล์ในครั้งนี้ เราควบคุมความละเอียดหยาบ, ปริมาณผงกาแฟ และปริมาณน้ำ โดยใช้ค่าที่เท่ากัน โดยจะต่างกันแค่เพียงโปรไฟล์การสกัดเท่านั้น โดยค่าที่เรากำหนดในครั้งนี้คือ

  • ปริมาณผงกาแฟทั้งหมด 18 กรัม

  • ปริมาณของน้ำ 30 กรัม

โปรไฟล์ที่ 1 เราจะใช้การทดสอบการสกัดเหมือนเครื่องชงกาแฟทั่วไป โดยยกตัวอย่างการสกัดเหมือนเครื่องชงแบรนด์ La Marzocco ในรุ่น Linea

     ลักษณะของการสกัดจะมีรายละเอียดดังนี้

 

  • ช่วงเวลาที่ 1 (T1) เราจะใช้เวลา 3 วินาที ในการไต่ระดับแรงดันจากแรงดันสกัดเริ่มต้นที่ 0 บาร์ ไปจนถึงแรงดันสูงสุดในการสกัดคือ 9 บาร์

  • ช่วงเวลาที่ 2 (T2) เราจะใช้เวลา 40 วินาที ในการสกัดที่แรงดัน 9 บาร์ เพื่อให้เหมือนการสกัดจากเครื่องชงกาแฟ La Marzocco รุ่น Linea ค่ะ

  • ช่วงเวลาที่ 3 (T3) เราใช้เวลา 2 วินาที ในการลดระดับแรงดันกลับมาเป็น 0 บาร์

     จากกราฟจะเห็นว่า การสกัดจะแตะที่ 9 บาร์ ในระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวซึ่งเป็นการจำลองลักษณะของการสกัดกาแฟจากเครื่องชงในรูปแบบปกติ อย่างเครื่องชงกาแฟ La Marzocco รุ่น Linea ค่ะ โดยจะใช้เวลาในการไต่ระดับของแรงดันในการสกัดช่วงต้นที่รวดเร็ว แล้วใช้ระยะเวลาสกัดด้วยแรงดันคงที่ที่ 9 บาร์ เป็นระยะเวลานาน และจบด้วยการลดแรงดันลงในตอนท้ายด้วยความรวดเร็วอีกเช่นกันค่ะ

     ซึ่งในโปรไฟล์ที่ 1 จะมีรสชาติและเนื้อสัมผัสทึบ บอดี้หนัก แต่ Aftertaste ที่ได้นั้นค่อนข้างสั้น


โปรไฟล์ที่ 2 เราได้ทำการออกแบบโปรไฟล์โดยกำหนดระยะเวลาและแรงดันที่ใช้สกัดกาแฟขึ้นมาใหม่

     ลักษณะของการสกัดจะมีรายละเอียดดังนี้

  • ช่วงเวลาที่ 1 (T1) เราจะใช้เวลา 8 วินาที ในการไต่ระดับแรงดันจากแรงดันสกัดเริ่มต้นที่ 0 บาร์ไปจนถึงแรงดันสูงสุดในการสกัดคือ 9 บาร์

  • ช่วงเวลาที่ 2 (T2) เราจะใช้เวลา 18 วินาที ในการสกัดที่แรงดัน 9 บาร์ เพื่อให้กาแฟเกิดการสกัดตัวอย่างเต็มที่

  • ช่วงเวลาที่ 3 (T3) เราใช้เวลา 30 วินาที ในการลดระดับแรงดันกลับมาเป็น 0 บาร์

     จากกราฟจะเห็นว่าโปรไฟล์ของทั้ง 3 ช่วงเวลาจะมีแตกต่างกัน โดยที่ช่วงที่ 1 เราใช้เวลา 8 วินาที ในการไต่ระดับ ทั้งนี้การที่เราค่อยๆ เพิ่มแรงดันในการสกัดอย่างช้าๆ จะทำให้รสชาติของความเป็นกรดในกาแฟ เช่นรสชาติเปรี้ยวและความฝาดของกาแฟออกมาไม่มากจนเกินไป ส่วนในช่วงการสกัดที่ 2 นั้น เราใช้เวลาในการสกัดที่สั้นกว่าโปรไฟล์แรก ส่งผลทำให้สามารถดึงเอาความหวานและเอกลักษณ์ต่างๆ ของกาแฟแต่ละชนิดออกมาอย่างเหมาะสมที่สุด และในช่วงสุดท้าย เราจะใช้วิธีการค่อยๆ ลดแรงดันลงอย่างช้าๆ ทำให้การสกัดกาแฟนั้นไม่สกัดเอาความขมที่อยู่ในกาแฟออกมามากจนเกินพอดี และยังทำให้เกิดความบาลานซ์ในรสชาติเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งโปรไฟล์ที่ 2 นี้รสชาติของกาแฟจะมีความ เปรี้ยวอมหวาน บาลานซ์กว่า กลิ่นฟุ้งกว่า และ Aftertaste ที่นานกว่า

     พอจะเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมคะ ว่าการสกัดกาแฟในโปรไฟล์ที่ต่างกันทั้งเวลาในการสกัดและแรงดันที่ใช้ในแต่ละช่วงของการสกัดนั้นส่งผลต่อรสชาติที่ต่างกันค่ะ และด้วยความสามารถของ Modbar Espresso EP จะทำให้คุณสามารถออกแบบโปรไฟล์ในการสกัดของคุณได้มากเท่าที่คุณต้องการ ซึ่งจะทำให้เราสามารถเลือกหรือตั้งโปรไฟล์ให้เหมาะกับเมล็ดกาแฟที่เรามีได้แบบไม่มีขีดจำกัด หรืออาจจะลองโปรไฟล์ที่เราได้ทำการทดลองให้ดูในครั้งนี้กับเมล็ดกาแฟที่มีในร้านของคุณได้ ด้วยการสัมผัสที่ปลายนิ้วเท่านั้น