“Jebena Buna” พิธีกรรมดั้งเดิมที่เปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ของชาวเอธิโอเปีย

     ในประเทศเอธิโอเปีย กาแฟไม่ได้เป็นแค่เครื่องดื่มที่ให้ความกระปรี่กระเป่าในตอนเช้า แต่กาแฟได้เข้ามาบทบาทที่สำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวเอธิโอเปียมากว่า 10 ทศวรรษ จวบจนปัจจุบันนี้ชาวเอธิโอเปียบริโภคกาแฟประมาณครึ่งหนึ่งของการเก็บเกี่ยวกาแฟประจำปีและส่งออกในส่วนที่เหลือ

     หลายคนอาจจะเคยได้ยินตำนานสุดฮิตอย่างตำนานแพะเต้น เรื่องราวของคลาดีหนุ่มเลี้ยงแพะชาวอะบิเซเนีย ผู้ค้นพบต้นกาแฟจากการที่แพะของเขากินเจ้าผลเชอร์รีกาแฟสีแดงเข้าไปแล้วเกิดอาการคึกคักจนกระโดดโลดเต้นไปทั่ว แต่แท้จริงแล้วประเทศเอธิโอเปียมีอีกพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการดื่มกาแฟที่น่าสนใจอีกอย่างที่เรียกว่า “Jebena Buna” เป็นพิธีกรรมการดื่มกาแฟเก่าแก่ของชาวเอธิโอเปีย

     พิธีกรรมดั้งเดิมนี้เป็นความมหัศจรรย์และเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ นับเป็นส่วนสำคัญของชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่อยู่ในการดำรงชีวิตประจำวันของครอบครัวของชาวเอธิโอเปีย โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ที่จะมีการทำพิธีเหล่านี้ถึง 2-3 ครั้งต่อวัน และในการทำพิธีแต่ละครั้งยังใช้เวลานานถึง 1-2 ชั่วโมงเลยทีเดียว สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของชาวเอธิโอเปีย นอกจากนี้การเชิญเข้าร่วมพิธีถือเป็นเครื่องหมายแห่งมิตรภาพหรือความเคารพ เสมือนพิธีต้อนรับแขกผู้มาเยือนในแบบฉบับของชาวเอธิโอเปียนั่นเอง

     เอกลักษณ์หนึ่งของพิธีกรรมนี้คือตลอดพิธีจะดำเนินการโดยหญิงสาว ก่อนเริ่มพิธีจะมีการนำหญ้าและดอกไม้ปูบริเวณพื้นและโต๊ะ และจุดเครื่องหอมที่ใส่กำยานหรือไม้จันทร์เพื่อสร้างกลิ่นหอม

     จากนั้นจะเริ่มขั้นตอนของการคั่วเมล็ดกาแฟ ผู้ทำพิธีจะทำการล้างเมล็ดกาแฟดิบประมาณหยิบมือให้สะอาด นำไปคั่วในกระทะบนเตาถ่าน คั่วจนเมล็ดกาแฟมีดำและมีน้ำมันออกมา จากนั้นจะนำเมล็ดกาแฟไปแผ่ให้เย็นในตะแกรง ซึ่งกลิ่นหอมกาแฟคั่วผสมผสานกับกลิ่นธูปถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของพิธีกรรมนี้

     หลังจากเมล็ดกาแฟเย็นแล้วจะถูกนำไปบดให้ละเอียดด้วยสากและครก ก่อนนำไปใส่ใน Jebena หรือหม้อต้มแบบพิเศษที่น้ำเดือดได้ที่ ก่อนนำไปต้มบนเตาถ่านที่ร้อนจัดอีกครั้ง

     การจัดเสิร์ฟนั้นจะเสิร์ฟในแก้วใบเล็กๆ คล้ายแก้วดื่มชาที่ไม่มีหูจับ แก้วใบเล็กๆ จะถูกนำมาวางเรียงติดกัน เจ้าของบ้านหรือผู้ทำพิธีจะค่อยๆ รินน้ำกาแฟแบบรวดเดียว เทคนิคนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้กากกาแฟหล่นลงไปในแก้ว โดยแขกหรือผู้ดื่มสามารถเติมน้ำตาลได้

     หลังจากดื่มรอบแรกแล้ว โดยปกติจะมีการเสิร์ฟเพิ่มอีกสองรอบ โดยเติมน้ำเพิ่มและนำไปต้มต่อ รวมทั้งหมด 3 เสิร์ฟ ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกัน

     เสิร์ฟแก้วแรกเรียกว่า Arbol กาแฟที่ได้จะมีรสชาติขม เนื้อสัมผัสแน่น และเข้มข้น เสิร์ฟแก้วที่สองจะเรียกว่า Tona กาแฟจะมีรสชาติที่อ่อนลงหลังจากการต้มครั้งที่ 2 และแก้วสุดท้าย จะเรียกว่า Berekha ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพราะหมายถึงคำอวยพร พิธีจะค่อยๆ ดำเนินไป ซึ่งใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ในระหว่างการทำพิธีก็จะมีการร่วมวงพูดคุยเรื่องราวต่างๆ เป็นอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ของพิธีกรรมนี้นั่นเอง

     บางครั้งก็อาจจะมีการเติมน้ำตาลสัก 2-3 ช้อนเพื่อเพิ่มความหวานให้กับกาแฟ เสิร์ฟพร้อมป๊อปคอร์นจานเล็กๆ เป็นอาหารว่าง และบางครั้งอาจจะมีการเติมสมุนไพรท้องถิ่นลงไป ซึ่งทำให้กาแฟมีรสเปรี้ยวที่สดชื่น ในบางชุมชนก็จะมีการเติมเกลือหรือเนยแทนน้ำตาล

     แม้พิธีกรรมเหล่านี้จะมีต้นกำเนิดจากพิธีกรรมในบ้านของชาวเอธิโอเปีย แต่กลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ ในร้านกาแฟทั่วประเทศ เป็นพิธีกรรมดั้งเดิมที่นอกจากจะมีเสน่ห์แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงสังคมและวัฒนธรรมเรื่องกาแฟที่อยู่คู่กับชาวเอธิโอเปียมาอย่างช้านาน


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://www.thespruceeats.com/ethiopian-coffee-culture-765829

https://www.thespruceeats.com/ethiopian-coffee-ceremony-765830

https://theculturetrip.com/africa/ethiopia/articles/the-coffee-ritual-ethiopias-jebena-buna-ceremony/

https://absoluteethiopia.com/facts-about-the-coffee-ceremony-in-ethiopia/