เคล็ดไม่ลับเปลี่ยนกาแฟแก้วโปรดเป็นสุดยอดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

     ช่วงเช้าของวันหลายคนมองหาเครื่องดื่มซักแก้ว เพื่อเพิ่มความสดชื่น เติมความสดใสให้กับตัวเอง “กาแฟ” เป็นตัวเลือกแรกๆ ที่คนส่วนใหญ่คิดถึงกัน นับว่าเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพและเป็นเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

     เรามาดูกันว่าเคล็ดไม่ลับที่เราอยากบอกคุณเพื่อเปลี่ยนกาแฟแก้วโปรดในมือคุณให้เป็นสุดยอดเครื่องดื่มสุขภาพ จะต้องทำอย่างไรบ้าง?

1. หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนหลัง 14.00 น.

     อย่างแรกเลยที่อยากให้ลองปรับเปลี่ยนกัน คือช่วงเวลาในการดื่มกาแฟ เนื่องจากกาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอยู่ปริมาณค่อนข้างมาก และคาเฟอีนมีฤทธิ์ในการกระตุ้น หากดื่มกาแฟในช่วงบ่ายหรือเย็นจะส่งผลต่อการนอนของคุณได้ ซึ่งการนอนไม่เพียงพอย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณได้

     หากดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมจะทำให้กระปรี้กระเปร่า สมองทำงานได้ดีขึ้น และนั่นก็เป็นสาเหตุที่กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยม นอกจากนี้ยังให้พลังงานและช่วยคลายความเหนื่อยล้าได้อีกด้วย หากจำเป็นต้องดื่มกาแฟในช่วงบ่ายหรือเย็น ควรเลือกกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนหรือดื่มชาที่มีคาเฟอีนน้อยกว่าแทน

     แต่ละคนนั้นมีความไวต่อคาเฟอีนที่ต่างกัน บางคนแม้จะดื่มกาแฟในช่วยบ่ายหรือเย็น ก็ไม่ส่งผลต่อการนอน อย่างไรก็ตามต้องสังเกตตัวเองว่ามีอาการนอนไม่หลับหรือไม่ หากมีอาการนอนไม่หลับ การหลักเลี่ยงการดื่มกาแฟในช่วงบ่ายจะทำให้การนอนของคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้น

     ดังนั้นการดื่มกาแฟช่วงบ่ายอาจจะส่งผลต่อการนอนหลับของคุณได้ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟหลังบ่ายสองโมงนั่นเอง

2. เลือกดื่มกาแฟแบบไม่เติมน้ำตาล

     แม้ว่ากาแฟจะเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็เป็นสิ่งที่กลับมาทำร้ายคุณได้เช่นกัน อย่างการดื่มกาแฟที่เติมน้ำตาล จะส่งผลเสียต่อร่างกายของเราได้เช่นกัน

น้ำตาลที่เราทานกันประจำคือน้ำตาลทราย ในความเป็นจริงแล้วน้ำตาลมีหลายประเภท สามารถแบ่งประเภทของน้ำตาลตามคุณสมบัติทางโครงสร้างได้ดังนี้

     น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว คือน้ำตาลที่มีโมเลกุลของคาร์โบไฮเดรตที่เล็กสุด เมื่อทานเข้าไป กระเพาะและลำไส้เล็กสามารถดูดซึมได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อย มีรสหวาน สามารถละลายน้ำได้ ได้แก่

- กลูโคส คือน้ำตาลที่เป็นผลสุดท้ายของการย่อยคาร์โบไฮเดรตก่อนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย พบได้ในผักและผลไม้ทั่วไป

- ฟรุกโตส พบในผักผลไม้ที่มีรสหวานทั่วๆไป และในน้ำผึ้ง

- กาแลกโตส คือน้ำตาลที่ได้จากการสลายตัวของแลกโทสในน้ำนม พบได้ในน้ำนม

     น้ำตาลโมเลกุลคู่ เป็นคาร์โบไฮเดรตที่เกิดจากการรวมตัวกันของน้ำตาลเชิงเดี่ยวสองโมเลกุล มีรสหวาน ละลายน้ำได้ เมื่อทานเข้าไปจะไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทันที จะต้องผ่านกระบวนการย่อยให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวก่อน จึงจะสามารถนำไปใช้งานได้ ได้แก่

- ซูโครส ได้จากน้ำตาลทรายหรือน้ำตาลอ้อย เป็นน้ำตาลที่เราทานกันเป็นประจำ เมื่อน้ำตาลซูโครสแตกตัวหรือถูกย่อยจะให้น้ำตาลกลูโคสกับน้ำตาลฟรุกโตสอย่างละ 1 โมเลกุล

- มอลโตส เป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ที่เกิดจาการรวมตัวของกลูโคส 2 โมเลกุล เป็นน้ำตาลที่มีอยู่ในเมล็ดพืชที่กำลังงอก เช่น น้ำตาลมอลต์ที่ได้จากข้าวมอลต์ เป็นต้น

- แลกโตส เกิดจากการรวมตัวกันของกลูโคสกับกาแลกโตส อย่างละ 1 โมเลกุล ไม่พบในพืช มักจะพบอยู่ในน้ำนม เราจึงรู้จักในชื่อ น้ำตาลนมนั่นเองค่ะ

     และน้ำตาลที่เราใช้ใส่ในกาแฟเป็นน้ำตาลประเภทซูโครสที่เมื่อทานเข้าไปแล้วร่างกายของเราจะไม่สามารถดูดซึมได้ทันที ต้องถูกย่อยก่อน หากทานมากเกินความต้องการของร่างกาย จะกลายเป็นพลังงานส่วนเกิน และกลายเป็นไขมันสะสมในร่างกาย ซึ่งเป็นที่มาของโรคมากมาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรงหลอดเลือด และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

     หากต้องการดื่มกาแฟที่มีความหวาน สามารถใช้สารให้ความหวานที่มาจากธรรมชาติอย่าง หญ้าหวาน เป็นต้น ในการหลีกเลี่ยงการเติมน้ำตาลลงในกาแฟของคุณ จะดีต่อสุขภาพของคุณได้มากกว่า

3. ดื่มกาแฟแต่พอดี ไม่ดื่มมากเกินไป

     อย่างที่บอกไปในตอนต้น กาแฟนั้นดีต่อสุขภาพ แต่อะไรที่มากเกินไปก็ย่อมส่งผลเสียได้ ดังนั้นแล้วควรเลือกดื่มกันแต่พอดี แม้ว่าความไวต่อคาเฟอีนของแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกัน บางคนสามารถทานคาเฟอีนได้มากกว่าคนอื่นๆ แต่การทานคาเฟอีนที่มากเกินไปอาจจะมีผลข้างเคียงต่างๆได้

     โดยทั่วไปคาเฟอีนที่แนะนำไม่ให้เกิน 2.5 มิลลิกรัม ต่อหนึ่งกิโลกรัมของน้ำหนักตัวต่อวัน ระบุว่ากาแฟ 1 แก้ว จะมีคาเฟอีนเฉลี่ยประมาณ 95 มิลลิกรัม สำหรับคนที่น้ำหนักตัว 80 กิโลกรัม สามารถดื่มได้ประมาณ 2 แก้วต่อวันนั่นเองค่ะ การดื่มกาแฟมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับปริมาณคาเฟอีนที่บริโภคและความอดทนของแต่ละบุคคลค่ะ

4. เพิ่มรสชาติให้กาแฟของคุณด้วย “อบเชย”

     อบเชยหรือชินนามอน เป็นเปลือกของไม้ชนิดหนึ่ง ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องเทศและยาสมุนไพร มักนำมาใช้การช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยในอาการปวดท้อง จุกแน่น ขับลม ท้องเสีย กระตุ้นความอยากอาหาร ปวดท้องประจำเดือน หวัด ไข้หวัดใหญ่ การติดเชื้อแบคทีเรีย และ พยาธิต่างๆ

     ถือเป็นสมุนไพรที่มีรสชาติอร่อยและเข้ากันได้ดีกับกาแฟ จากการศึกษาเห็นว่าอบเชยสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ หากคุณต้องการเพิ่มรสชาติกาแฟของคุณให้ลองเพิ่มอบเชยลงไป นับว่าเป็นความลงตัวที่น่าประหลาด เพียงใส่ลงไปเพียงเล็กน้อย ไม่เพียงแต่รสชาติที่ดีเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สุขภาพของคุณดีขึ้นอีกด้วยค่ะ

5. ลด ละ เลิก การใส่ “ครีมเทียม”

     “ครีมเทียม” เป็นครีมผงหรือน้ำที่ใช้ทดแทนนมหรือครีม เพื่อเพิ่มรสชาติในกาแฟและเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแล็กโทส จึงถือกันว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ทำจากนม ในกระบวนการผลิตครีมเทียมเพื่อให้มีรสชาติและสัมผัสเหมือนไขมันนม จึงใช้ส่วนผสมจากไขมันทดแทนหรือที่เรียกว่าไขมันทรานส์ ไขมันที่เกิดจากการแปรรูป ซึ่งย่อยสลายได้ยากกว่าไขมันชนิดอื่น เมื่อทานเข้าไปมากๆจะทำให้เกิดสภาวะผิดปกติกับร่างกาย มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไขมันและอุดตันในเส้นเลือด เป็นต้น

     อาหารจากธรรมชาติมักเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แทนที่จะใส่เป็นครีมเทียมให้ลองใส่เป็นนมในกาแฟของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมจากวัวที่กินหญ้า ซึ่งพบว่ามีประโยชน์มากกว่านมจากวัวเลี้ยงในฟาร์มทั่วไปเนื่องจากมีไขมันช่วยให้หัวใจแข็งแรง การวิจัยแสดงให้เห็นว่าน้ำนมวัวที่กินแต่หญ้าสดมีไขมันไม่อิ่มตัวปริมาณสูงกว่านมที่เลี้ยงด้วยธัญพืชประมาณ 5 เท่าเลยทีเดียว

     ผลิตภัณฑ์นมมีสารอาหารที่สำคัญบางอย่าง ตัวอย่างเช่น นมเป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีเยี่ยม ลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนและกระดูกหัก นอกจากนี้นมวัวที่กินหญ้ายังมีวิตามินเคบางตัวที่ช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้นอีกด้วยค่ะ

6. เพิ่มรสชาติด้วยโกโก้หรือดาร์กช็อกโกแลตที่ปราศจากไขมันทรานส์

     โกโก้หรือดาร์กช็อกโกแลตคุณภาพที่ทำจากไขมันดีอย่างไขมันโกโก้ เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ลองเพิ่มผงโกโก้หรือดาร์กช็อกโกแลตลงในกาแฟของคุณเพื่อเพิ่มรสชาติ กลายเป็นเมนู Café mocha กาแฟนมรสชาติช็อกโกแลต มีเสิร์ฟในร้านกาแฟหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม Café mocha มักจะมีรสหวาน หากทำดื่มเองที่บ้านแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใส่น้ำตาลเพิ่ม คุณสามารถผสมผสานประโยชน์ของกาแฟโดยเติมผงโกโก้หรือดาร์กช็อกโกแลตที่ทำจากไขมันโกโก้ลงในกาแฟของคุณได้

7. ชงกาแฟผ่านกระดาษกรอง เพื่อสุขภาพ

     ในกาแฟนั้นมีสารอย่างหนึ่งที่ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นคือ คาเฟสตอล (Cafestol) และไดเทอร์พีน (Diterpene) ซึ่งการลดระดับของสารเหล่านี้ทำได้ง่ายเพียงใช้กระดาษกรอง ดังนั้นการดื่มกาแฟที่ชงจากกาแฟคั่วบดที่ไม่ผ่านการกรองจะทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นได้ ส่วนการดื่มกาแฟที่ชงจากกาแฟคั่วบดที่ผ่านการกรองจะไม่ทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น แต่คาเฟอีนและสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์จะสามารถลอดผ่านกระดาษกรองไปได้

     การดื่มกาแฟมากเกินไปจะส่งผลต่อสุขภาพในด้านต่างๆได้ อย่างก็ตามคุณสามารถทำให้กาแฟมีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการเติมน้ำตาลและครีมเทียม สามารถเติมอบเชย โกโก้ หรือช็อกโกแลตที่ปราศจากไขมันทรานส์ได้ นอกจากนี้ควรงดดื่มกาแฟในช่วงบ่ายและเย็นเพราะอาจจะทำให้คุณภาพการนอนหลับของคุณลดลง ด้วยเคล็ดลับเหล่านี้ทำให้กาแฟแก้วโปรดของคุณมีประโยชน์และดีต่อสุขภาพได้ค่ะ


แหล่งที่มา

https://www.healthline.com/nutrition/8-ways-to-make-your-coffee-super-healthy#section9

https://www.sanook.com/health/17157/

http://52010820008.blogspot.com/2011/04/blog-post.html