Bluekoff Explorer : Let’s go to the Tea Ep.1

     คอนนิจิวะ!!! วันนี้ Bluekoff Explorer จะพาทุกคนเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อเยี่ยมชมโรงงานผลิตชาเขียวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ไปดูพร้อมกันค่ะว่ากว่าจะมาเป็นชาเขียวมัจฉะและโฮจิฉะ ที่เราทุกคนได้รับประทานกันนั้น ต้องผ่านกรรมวิธีการผลิตอะไรบ้าง และมีการควบคุมคุณภาพอย่างไร หากพร้อมแล้ว ก็ไปกันเลยยยย

     ฟาร์มชาเขียวที่เราเดินทางไป ตั้งอยู่ที่จังหวัดชิซูโอกะ นอกจากเป็นแหล่งเพาะปลูกชาที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังเป็นที่รู้จักในเรื่องของเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟฟูจิที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นอีกด้วย เรานั่งรถไฟชินคันเซน ไปประมาณ 1.30 ชั่วโมง จากสถานีโตเกียว จากนั้นเรานั่งรถต่อไปยัง Tea Garden เพื่อดูการเพาะปลูกชา แต่เราจะไม่เห็นการเก็บเกี่ยวใบชา เพราะฤดูเก็บเกี่ยวที่นั่นจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี แต่ทางโรงงานก็ได้พาเราไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อดูว่าการผลิตชา เค้าทำกันอย่างไรบ้างค่ะ

กรรมวิธีในการผลิต

From Farm to Factory

     ในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว ชาวสวนจะเก็บใบชาในช่วงเช้า และนำใบชามาส่งยังโรงงาน เมื่อใบชาเดินทางมาถึงโรงงานทำการชั่งน้ำหนัก จากนั้นใบชาจะถูกลำเลียงตามสายพานเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปในช่วงแรก

ช่วงแรก : ใบชาหลังเก็บเกี่ยว – ใบชาแห้ง

     ใบชาสดหลังเก็บเกี่ยว จะถูกส่งเข้าไปทำการสตีม เปรียบเสมือนการนึ่งด้วยไอน้ำ เพื่อลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ระหว่างใบชากับออกซิเจนในอากาศ โดยจะผ่านไอน้ำที่อุณภูมิไม่สูงมาก ใช้เวลาประมาณ 30-60 วินาที เพื่อให้ใบชามีความอ่อนตัวลง

     หลังจากนั้นจะผ่านไอน้ำที่อุณหภูมิสูงขึ้นเป็นเวลา 100-140 วินาที และทำการ Cooling เพื่อลดอุณภูมิลงอย่างรวดเร็ว ต่อมาจะถูกส่งเข้าไปยังเครื่อง Rolling เพื่อทำการนวดใบชา เครื่องจะทำงานโดยหมุนไปเรื่อยๆ แบบไม่รุนแรง จนกว่าใบชาจะมีการม้วนตัวเป็นเกลียว หรืออาจจะไม่เป็นเกลียวก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการผลิตชาประเภทใด

     ในระหว่างนี้จะมีการใช้ลมผ่าน เพื่อลดความชื้นในใบชา ในขั้นตอนนี้จะเป็นการสร้างกลิ่นรส และรสชาติให้กับใบชา หลังจากนั้นก็จะทำแห้งใบชาอีกครั้ง เพื่อไล่ความชื้นออกจากใบชา สามารถนำไปชงเป็นชาเขียวได้เลย ใบชาที่ผ่านกระชวนการแปรรูปในช่วงแรก จะถูกเรียกว่า Sencha (เซนฉะ) ถูกนำมาผสมรวมกันในเครื่องผสม

     หลังจากที่ใบชาผสมให้เข้ากันและจะถูกส่งไปเครื่อง Refining ในขั้นตอนนี้ใบชาแห้งจะถูกเครื่องทำการหมุน และเขย่า เพื่อแยกส่วนระหว่างใบชา และก้านใบ ซึ่งทั้งสองส่วนสามารถนำไปทำชาคนละชนิดกัน หรือชาบางประเภทอาจจะรวมระหว่างใบและก้านเลยก็ได้

     จากนั้น จะถูกส่งไปยังเครื่องคั่ว Roasting เพื่อทำแห้ง โดยจะทำเครื่องคั่วจะมีการให้พลังงานความร้อนแบบไมโครเวฟ ที่มีการควบคุมอุณหภูมิและเวลา ขึ้นอยู่จุดประสงค์ว่าต้องการผลิตใบชาประเภทใด และต้องการระดับการคั่วอ่อน หรือคั่วเข้มเท่าใด

     ในการทำมัจฉะนั้น จะคั่วโดยใช้อุณภูมิไม่สูงมากเวลาประมาณ 2 นาที โดยสีของใบชาไม่เปลี่ยนแปลงมาก ยังคงมีสีเขียวอยู่ แต่หากต้องการคั่วให้เป็นโฮจิฉะ จะเพิ่มอุณภูมิให้สูงขึ้น แต่เวลาใกล้เคียงกัน เพื่อให้ใบชาคั่วเข้มขึ้นจนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ไปจนถึงน้ำตาลเข้มนั่นเองค่ะ

     จากนั้นใบชาจะถูกส่งไปยังเครื่องตรวจสอบโลหะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค หรือเครื่องจักรหากต้องไปเข้าขั้นตอนการบดให้เป็นผง

     เมื่อผ่านเครื่องตรวจสอบโลหะแล้ว จะส่งไปบรรจุลงในถูกฟอยด์แบบสุญญากาศ

ช่วงสอง : Sencha – Matcha

     ใบชาแห้งจะถูกลำเลียงผ่านเครื่องบด หรือเครื่องโม่ ซึ่งการผลิตใบชาเกรดสูง จะถูกโม่ให้เป็นผงด้วยเครื่องบดที่ทำจากหิน แต่ในระดับอุตสาหกรรมจะผ่านสแตนเลสคุณภาพสูง เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียรสชาติของชา จากนั้นจะถูกบรรจุลงบรรจุภัณฑ์ บางส่วนจะถูกนำไปทดสอบรสชาติยังห้องทดสอบของโรงงาน

     ซึ่งทางบลูคอฟได้มีโอกาส เข้าร่วมกิจกรรมการชิมชาของทางโรงงานด้วย เราเลยอยากจะนำมาเล่าให้ทุกคนได้อ่านใน Ep.2 โปรดติดตามกันด้วยนะคะ